โกหก แล้วจะเก่งบาส
การใช้ประโยชน์จาก “ความจริงที่เกิดจากความเท็จ”
เรื่องโกหกที่ถูกพูดถึงบ่อยๆสุดท้ายแล้วมันจะกลายเป็นเรื่องจริง!
วลีนี้น่าสนใจนะครับ
วันนี้ผมจะพาไปเรียนรู้การทำงานของสมองคนเรา
แท้จริงแล้วสมองเราแยกไม่ออกระหว่างอันไหนจริงอันไหนปลอม!
คุณลองพูดว่าวันนี้แม่งโคตรซวยเลยเจอปัญหาต่างๆนานาเยอะแยะมากมาย
สมองมันไม่รู้หรอกครับว่าคุณกำลังบ่น
มันคิดว่าคุณพูดเรื่องจริง
ดังนั้นมันจึงนำพาสถานการณ์เลวร้ายมาสู่คุณ
เห็นไหมครับคุณได้ซวยสมใจ!

ในทางกลับกัน
คุณตื่นมาด้วยอารมณ์เบิกบานมีความสุขพร้อมที่จะเจอกับทุกสถานการณ์ด้วยแง่บวก
สมองมันก็ไม่รู้หรอกครับว่าคุณพูดเล่นหรือพูดจริง
มันรู้แค่ว่าคุณพูดด้านบวก มันเลยนำพาสิ่งดีๆมาหาคุณ!
เห็นไหมครับพลังของคำพูดมีผลอย่างมาก

วันนี้ผมเลยจะมาสอนให้คุณพูดโกหกครับ
อะไรนะไอ้โค้ชให้พูดโกหกหรอ?
ใช่แล้วครับพูดโกหก
แน่นอนครับการโกหกที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนนั้นเป็นสิ่งไม่ดี การโกหกที่ดีคือการโกหกที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและคนอื่นก็มีความสุขด้วย
ตัวอย่างง่ายๆสำหรับพวกเราก็คือ “ผมไม่กล้าเล่น” “ทำยังไงให้กล้าเล่น”
แค่คุณพูดว่าไม่กล้าเล่น สมองก็พาคุณกลัวไปหมดแล้ว!

แต่ถึงแม้คุณจะกลัว แต่คุณโกหกสมองว่า “ฉันจะเล่น” “ฉันกล้าเล่น” ” ฉันจะลุย” “ฉันจะชู้ตละนะ”
สมองจะทำปฏิกิริยากับร่างกายทำให้คุณออกไปลุย
แม้แต่ตอนเราพูดกับคนอื่นก็ตามยก ตัวอย่างเช่น
สมมุติคุณได้ทุนบาสแล้วต้องย้ายมาอยู่ประจำที่โรงเรียนเพื่อเรียนและซ้อมกีฬาซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่คนละจังหวัดกับบ้านของคุณ
พ่อแม่ก็คงจะถามเราว่า “ความเป็นอยู่โอเคไหม”
แน่นอนว่าท่านถามด้วยความเป็นห่วง
ถึงแม้มันจะลำบากมันจะเหนื่อยมันจะหนักมันจะอึดอัดแค่ไหนถ้าเราตอบแม่ไปว่า “อ๋อไม่ต้องห่วงเลย ok ดี”
มันเป็นการโกหก หรือไม่ก็ตามแต่ แต่สมองจะบันทึกข้อความด้านบวกว่า “ไม่ต้องกังวล ok ดี” เข้าไปในสมองเรียบร้อย
ซึ่งคำพูดเหล่านี้ถือเป็นคำโกหกที่ดีซึ่งนำพาไปสู่ภาพลวงที่ดีนั่นเอง
ลองใช้คำพูดด้านบวกหลอกสมองของเราเองดูนะครับ
เพราะหากเป็นเรื่องที่เจ้าตัวตัดสินใจไปแล้วว่า “ทำไม่ได้” สมองก็จะยอมรับสิ่งนั้นและไม่เกิดการตื่นตัวจะไม่พยายามสร้างสถานการณ์ที่ดีออกมา
หากสับสวิตซ์สมองว่า “ฉันทำได้” สมองก็จะตื่นตัวและพยายามหาสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวคุณนั้นสามารถทำได้ขึ้นจริงๆ
คำพูดนั้นมีพลังจง อย่าพูดเยาะเย้ย ถากถางผู้อื่น แม้แต่การพูดแซวกันเล่นๆก็ตามที มันโคตรจะมีผลเชื่อผม
คนที่ไม่กล้าเล่นอยู่แล้วเมื่อโดนตอกย้ำว่า “ทำไมไม่กล้าเล่น” สุดท้ายก็ไม่กล้าเล่นจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม หากคุณเป็นโค้ช หรือเป็นรุ่นพี่ในทีม การสนับสนุนให้นักกีฬาฝึกหัดหรือผู้เล่นหน้าใหม่กล้าลองกล้าเล่นกล้าทำผิดพลาดเป็นสิ่งที่คุณควรกระทำ
พูดกับเขาไปดีๆว่า ลุยเลย, เอาเลย, ลองดู,
ถ้ามีคนเชียร์คุณในด้านบวก มีหรือที่คุณจะไม่กล้าลอง จริงไหมครับ
